วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

5 วิธีหางานด้านดิจิตอลในต่างแดน


ขอขอบคุณบทความเรื่อง “How To: 5 วิธีหางานด้านดิจิตอลในต่างแดน” ของคุณ จักรพงษ์ คงมาลัย บรรณาธิการเวปไซต์ธุรกิจดิจิตอล thumbsup.in.th  ที่ให้เรานำมาทำรายการไอที24ชั่วโมง และเราได้คัดลอกบางส่วนของบทความ How To: 5 วิธีหางานด้านดิจิตอลในต่างแดน ที่ลงใน thumbsup.in.th มาไว้ในบทความนี้
การทำงานต่างประเทศเป็นเหมือนกับความฝันของหลายๆ คน เพราะนอกจากจะได้ “โกอินเตอร์” สร้างพอร์ต เสริมประสบการณ์ต่างแดน มีเวทีในการสร้างผลงานแล้ว แน่นอนว่าบริษัทต่างชาติใหญ่ๆ Multi-National Company หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า MNC เขาก็จะเสนอเงินเดือน รายได้ ผลตอบแทนที่ดีให้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนที่บริษัทจะเสนอให้คุณ บ้าน รถ ค่าอาหาร Stock option สิทธิพิเศษ บัตรเครดิตของบริษัทให้ใช้จ่าย ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันรถ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเอนเตอร์เทนเม้นท์ ค่ายิม ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใช้จ่ายจิปาถะที่เขาจะเสนอมาให้ ก็แล้วแต่ว่าคุณมีความสามารถอย่างไร ค่าตัวแค่ไหน
ทีนี้ถ้าคุณอยู่เมืองไทย อยากจะทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะในสายดิจิตอล สายไอที Telco จริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เพียงแต่ควรจะทำจากจุดเล็กๆ ง่ายๆ ก่อน ผมไม่ใช่คนที่เชียวชาญอะไรในด้านนี้นะครับ แต่มีประสบการณ์มาแชร์เท่านั้น ถ้าหากว่ามันทำให้คุณได้งานในต่างประเทศ ก็ยินดีครับ ผมเขียนเป็นขั้นๆ ไปนะครับ
1. ภาษาอังกฤษต้องแม่นก่อน ภาษาเป็นสิ่งสำคัญมาก คนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เก่งๆ กันเยอะ แต่มาตายเรื่องภาษา ทำให้เป็นอุปสรรค ผมแนะนำเลยครับว่าติวด่วน สมัยผมอยู่เมืองไทย ก่อนไปทำงาน ภาษาก็ไม่ได้เจ๋งมากนะครับ แค่พูดได้ฟังได้ แกรมม่าไม่ได้แน่นเปรี๊ยะ สถานที่ที่คุณจะไปเรียนได้ก็มีหลายที่ AUA, British Council, ครูเคท ฯลฯ
2. รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง - สำรวจตัวเองครับ รู้ก่อนว่าเราชอบทำอะไร career path ไปทางไหน จุดแข็งจุดอ่อนตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วมัน match กับความต้องการของบริษัทนั้นๆ ไหม ถ้าเรารู้แล้ว เราก็จะรู้ว่ามีบริษัทไหนบ้างที่ต้องการคนที่มีทักษะแบบเรา การสมัครงานไม่ใช่ว่าสมัครไปทั่วนะครับ เราควรดูว่าเราเหมาะกับตำแหน่งนั้นไหม ผมเองยอมรับว่าสมัยจบมาใหม่ๆ ก็ร่อนใบสมัครไปทั่วเน็ตเหมือนกันครับ ด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้งาน ตอนนั้นจบมาเศรษฐกิจช่วงปี 40 กำลังตกต่ำเสียด้วย แต่การทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรครับ เสียเวลาเปล่าๆ แต่ถ้าคุณเพิ่งจบใหม่ ก็พยายามสมัครไปให้ตรงกับสายที่เรียนมา แต่ส่วนใหญ่จากประสบการณ์ผม บริษัท MNC ไม่ค่อยรับเด็กจบใหม่ครับ จะเอาผ่านงานมาแล้วเกือบทั้งนั้น เพราะไม่ต้องมานั่งปวดหัวแนะนำอะไรกันมาก
3. เริ่มจากประเทศที่เหมาะกับคุณ – ตรงนี้ต้องยอมรับว่าถ้าคุณจบต่างประเทศ คุณจะมีโอกาสในการทำงานต่างประเทศมากกว่าคนที่จบในเมืองไทย อย่างสมัยก่อนถ้าจบอเมริกา คุณก็มีสิทธิ์ในการที่จะทำงานที่อเมริกาประมาณหนึ่งปี (รู้สึกตอนนี้กฏเปลี่ยนแล้ว ไม่แน่ใจเหมือนกัน) มันก็จะทำให้คุณมีโอกาสในการทำงานในประเทศนั้นๆ มากขึ้น เพราะคุณพำนักอยู่ในประเทศนั้นอยู่แล้ว ทางฝ่ายบุคคลของบริษัทนั้นๆ ก็ไม่ต้องเดินเรื่องเอาคุณเข้าประเทศ คอยบอกคุณเรื่องที่พัก ค่าครองชีพ จิปาถะอะไรทำนองนี้
แต่ถ้าบังเอิญไม่ได้จบนอก จะมีโอกาสไหม มีครับ ผมแนะนำว่า เบื้องต้นเอาง่ายๆ สมัครประเทศไหนก็ได้ที่เขาต้องการคนไทย ทักษะพื้นๆ ทั่วไปที่บริษัท MNC บางแห่งต้องการก็คือ ถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง เขาก็จะจ้างคนด้านนั้นมาหลายๆ ภาษาครับ เช่น พนักงานลูกค้าสัมพันธ์ภาษาไทย ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำประเทศไทย อย่างที่สิงคโปร์นี่ก็เป็นหนึ่งในประเทศใกล้ๆ ที่มาง่าย เพราะสิงคโปร์จะเป็นเหมือนกับ Regional hub ของประเทศในแถบบ้านเรา บริษัทต่างชาติเวลาเขาจะลงทุนตั้งบริษัทในแถบนี้ เขาก็มักจะมาที่นี่ครับ เพราะเสถียรภาพ ความมั่นคงทางการเมือง นโยบายการลงทุนกับต่างชาติ คุณภาพของบุคลากร ค่อนข้างเอื้อกับการทำงานของเขา
4. เสิร์ชตำแหน่งไทยในต่างแดนให้เป็น – การหางานในต่างประเทศ เริ่มง่ายๆ ก็ลองใช้เว็บหางานที่เป็นที่นิยมในแต่ละประเทศก่อนครับ อย่างสิงคโปร์นี่เว็บดังก็ต้อง Jobstreet.com.sg Monster.com.sg หรือเว็บอื่นๆ อีกหลายต่อหลายแห่ง เสร็จแล้วก็ใส่คีย์เวิร์ดว่า “Thai” เข้าไป แค่นี้คุณก็จะเจอตำแหน่งงานที่รับพวก Thai speaking หรือตำแหน่งที่รับคนที่มีทักษะเฉพาะที่คุณมี แต่คุณก็จะเสียเปรียบคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว รวมทั้งลองใช้บริษัทแนว Head Hunter ก็ได้นะครับ อันนี้ก็แล้วแต่ว่า Head Hunter จะมา “ล่า” คุณหรือเปล่า
5. ใส่ใจ LinkedIn – ถ้าคุณเป็นคนที่ active อยู่บน Social Network ต่างๆ คุณอาจจะเคยผ่านไปที่เว็บไซต์LinkedIn.com ซึ่งเป็น Social Network สำหรับคนทำงานนะครับ ในบ้านเรายังไม่ค่อยฮิตเท่าไหร่ มีคนใช้เพียงหลักไม่กี่แสนคน แต่ว่าในต่างประเทศคนใช้กันค่อนข้างมาก ผมขอแนะว่าว่างๆ คุณควรเข้าไป join กลุ่มต่างๆ ในชุมชนคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่คุณอยากทำ เช่น คุณสนใจงานโฆษณาออนไลน์ในต่างประเทศ คุณก็สมัครเข้าไปร่วมกลุ่มคนที่สนใจเรื่องโฆษณาออนไลน์ในประเทศที่คุณอยากไป บางทีเขาจะเอาตำแหน่งที่น่าสนใจมาโพสต์ หรือไม่ใน LinkedIn เขาก็จะเอาตำแหน่งงานที่เหมาะกับความสนใจของคุณขึ้นมาให้ดูอยู่เรื่อยๆ
จากประสบการณ์ผม คุณต้องทำงานมาระยะนึง มีพอร์ตพอสมควรแล้ว ถึงจะมีคนมาล่าครับ เมื่อเจองานที่คิดว่าใช่แล้วก็ส่ง CV ไปได้เลยครับ แต่วิธีการเขียน CV ก็ต้องเขียนให้มันโดน ให้เขามั่นใจได้ว่าคุณทำงานกับคนต่างประเทศได้นะ ภาษาอังกฤษแน่นพอตัว ก็จะทำให้ผ่านได้ฉลุย ยิ่งถ้าคุณหางานในบริษัทสมัยใหม่หน่อย อ่านบล็อกของบริษัทนั้นบ่อยๆ ครับ คุณจะรู้ว่าเขาเปิดรับเมื่อไหร่ รับบุคลากรด้านไหนบ้าง ก็จะทำให้มีโอกาสมากขึ้นไปอีก
นอกจากบัญญัติ 5 ข้อที่ผมเขียนขึ้นมาแล้ว ก็มีเรื่องบอกอีกอย่างครับว่า บริษัท MNC ชอบรับคนจากบริษัท MNC ด้วยกัน… ผมเองมาจากบริษัทในประเทศไทย ไม่เคยผ่านงานบริษัทต่างชาติมาก่อนแต่ก็เข้าได้ เพราะเคยรับงานพาร์ทไทม์สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศมาบ้าง ทำให้ฝ่าย HR ที่นี่เขามั่นใจมากขึ้น แต่ถ้าหากว่าคุณทำงานที่มีสาขาอยู่ต่างประเทศอยู่ด้วยแล้วก็ยิ่งดีใหญ่ครับ อันนี้จะทำให้เขามั่นใจได้ว่าคุณทำงานในระบบที่มีความเป็นสากลได้ง่ายขึ้น เพราะเหตุนี้เราจึงเห็นการย้ายงานระหว่างบริษัทต่างชาติกันเองบ่อย
ท้ายสุดเผื่อว่าใครอยากจะอ่านหนังสือหาข้อมูลเพิ่มเติม ผมแนะนำหนังสือ คู่มือหางานอินเตอร์ ครับ เล่มนี้เคยเปิดๆ อ่านตามร้าน น่าจะเหมาะกับคนที่สนใจงานในต่างประเทศ หรืองานบริษัทต่างชาติ หรือถ้าหากคุณคิดว่าคุณมีข้อมูลดีๆ ที่ผมไม่รู้ ช่วยกันแชร์นะครับ น่าจะมีประโยชน์กับคนไทยด้วยกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น