วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เจาะประเด็น 3G กสท. – ทรู กระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่

ตั้งแต่ต้นปี มีกระแสหนาหูว่า ทรูมูฟ (ไม่ใช่ ทรูมูฟ เอช) จะยุติการให้บริการ 3G และมีข่าวเกี่ยวกับกสทช ในการตัดสิน กสท. และ ทรู ในการดำเนินการ ทรูมูฟ เอช ว่ากระทำผิดตามมาตรา 46 หรือไม่ อย่างไร ซึ่งหลายๆคนอาจจะงง ว่าทำไมทรูมูฟต้องยุติ 3G ทำไมกทสและทรู ทำสัญญากันทำไม แล้วทำผิดฎหมายอะไร และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาสรุปไว้…. มาติดตามกันว่า เกิดอะไรขึ้น และผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้อะไร และมีผลกระทบอะไรต่อผู้บริโภคอย่างเราไหม
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การให้บริการ 3G ของกลุ่มทรู แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
(1) ทรูมูฟให้บริการ 3G แบบทดลองใช้ บนคลื่นความถี่ 850MHz ความเร็วสูงสุด 7.2Mbps
(2) ทรูมูฟ เอช ให้บริการ 3G ในเชิงพาณิชย์ บนคลื่นความถี่ 850MHz ความเร็วสูงสุด 42Mbps ในฐานะ Reseller ของ กสท (CAT)
(1) ทรูมูฟให้บริการ 3G แบบทดลองใช้
ย้อนไปที่เรื่องของประเด็นที่มีการถถเถียงกันว่า ทรูมูฟ จะยุติการให้บริการ 3G ซึ่งข่าวนี้ ทำให้ผู้ใช้ หรือลูกค้า เกิดความไม่มั่นใจ และไม่เข้าใจ คิดว่าทรูมูฟ จะพยายามผลักดันให้ลูกค้าย้ายไป ใช้งาน ทรูมูฟ เอช เยอะๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สัญญาณสัมปทานของทรูมูฟ จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2556 ส่วน เอไอเอส จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2558 และดีแทค จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2562 จากกรณีนี้ จึงทำให้ทรูมูฟ หาทางช่วยลูกค้าเพื่อให้สามารถใช้งาน 3G ได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อเราทราบแล้วว่า สาเหตุที่ยุติการให้บริการ 3G เกิดจากระยะเวลาสัมปทานกำลังจะสิ้นสุดลง ก็คงจะคลี่คลายข้อสงสัยต่างๆ และขอให้เข้าใจตรงกันว่า 3G ที่เราได้ใช้กันบนเครือข่ายทรูมูฟ เป็น 3G แบบ “ทดลองใช้” โดยนำความถี่คลื่นเดิมคือ 850MHz มาให้บริการแบบ “ทดลองใช้” หมายถึงขายแพ็คเกจ 3G ไม่ได้ หากสังเกตโปรโมชั่นจะพบว่า ขาย EDGE แล้วมีการแถมปริมาณ 3G ให้ใช้ตามปริมาณที่กำหนด ตรงนี้คำตอบจากหน้า FAQ ของ Truemove ชัดเจนมาก “ปัจจุบัน TrueMove ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในย่าน 850 MHz แต่ยังเป็นช่วงพร้อมใช้บริการ 3G โดยไม่คิดค่าบริการ และกำลังรอการอนุมัติประกาศให้บริการ 3G ในเชิงพาณิชย์ ซึ่ง กทช.จะเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ 3G ในย่านความถี่ 2100 MHz เร็วๆ นี้” จากเว็บไซต์ Truemove 3G+ Wi-Fi ถาม – ตอบ
(2) ทรูมูฟ เอช ให้บริการ 3G เชิงพาณิชย์ ในฐานะ Reseller ของ กสท
ก่อนหน้าที่กสท.จะทำสัญญากับทรู ได้มีการพูดคุยกับทางฮัทชิสัน (Hutchison หรือฮัทช์) เพื่อขอใช้บริการในระบบ CDMA เหมือนกัน แต่หลังจากที่มีการยกเลิกการประมูล 3G โดยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จากนั้นทรูได้เข้าไปซื้อกิจการของฮัทช์ และเซ็นสัญญากับกสท.ในการให้บริการ 3G การที่ทรูซื้อฮัทช์ในครั้งนี้ ทำให้ทรูได้พื้นที่ให้บริการของลูกค้าฮัทช์ 25 จังหวัดในระบบ CDMA โดยให้บริการในระบบ HSPA ซึ่งสามารถให้บริการบนความเร็วสูงสุด 42Mbps บนคลื่นความถี่เดิมคือ 850MHz ภายใต้ชื่อ ทรูมูฟ เอช ในภายหลัง (ทรูมูฟ เอช เริ่มให้บริการในวันที่ 30 สิงหาคม 2554) และที่ทรูเลือกที่จะซื้อฮัทช์ เพราะฮัทช์ยังมีสัมปทานยาวไปถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2568
เหตุใดจึงให้บริการบนเครือข่ายเดิม
เนื่องจากการประมูล 3G ต้องรอการจัดตั้งและสรรหา กสทช (สมัยนั้นยังไม่มี กสทช.) รวมไปถึงการประมูล 3G จะต้องรอระยะเวลา 2 – 3 ปี ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในช่วงที่รอการประมูลก็คือ ผู้ให้บริการ สามารถนำคลื่นความถี่เดิมมาพลิกแพลงให้บริการ 3G ไปก่อนได้ ดังนั้นในช่วงนี้เราจึงเห็น 3G บนคลื่นความถี่ 850 – 900MHz ก่อนที่จะมีการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ใบแรกของประเทศไทยบนความถี่ 2.1GHz (2100MHz) และจริงๆ แล้วนั้นผู้ให้บริการ 3G ที่ใช้คลื่นความถี่ 850-900 MHz ก็มีอยู่ทั่วโลก
ไขข้อสงสัย ผิดกฎหมายหรือไม่
ประเด็นที่หลายคนสงสัย ว่า กสท. และทรู ทำผิดกฎหมายอะไรหรือไม่อย่างไร ก็มีเหตุมาจากตรงนี้ เพราะการทำสัญญาของ กสท และทรู นั้นน่าสงสัย ว่าผิด พรบ.ร่วมทุน ปี พ.ศ. 2535 หรือไม่ และทำไมกสท ถึงให้บริษัททรูรายเดียวทำ 3G เหตุใดจึงไม่ให้บริษัทอื่นแข่งขันด้วย โดยทางกสท ได้เปิดให้สามารถทำธุรกิจร่วมแบบ Reseller ได้
ทรูมูฟ เอช ให้บริการเครือข่าย โดย กสท ให้บริการ โดยได้เช่าเสาจากบริษัท BFKT และให้บริการแบบขายส่งให้กับบริษัท เรียลมูฟ จำกัด ดังนั้นหากสังเกตจะเห็นว่า ทรูมูฟ เอช ให้บริการโดยมีพ่วงท้ายโลโก้ว่า A CAT Reseller คือทรูเป็นคนขายส่งต่อให้กับกสท. นั่นเอง
จากประเด็นข้างต้น ที่ว่ามีข้อสงสัย ก็ตรงนี้ เพราะกสท นั้นจ้างให้ BFKT สร้างเสา ดูแลเสา และขายต่อให้เรียลมูฟ เป็นการขายส่ง ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีความผิดตั้งแต่แรกคือ BFKT ไม่มีอนุญาตในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และหากผิดในมาตรา 46 ก็เพราะ กสท ไม่ใช่เจ้าของเสา ไม่ใช่เจ้าของผู้ให้บริการเครือข่าย เอง (ขายส่งให้ทรู) และไม่ใช่ MVNO เพราะเจ้าของอุปกรณ์เป็นของ BFKT โดยความผิดมาจากการที่กสท ไม่ใช่เจ้าของเครือข่าย (ทำไมกสท ไม่บริหารเอง แต่โอนถ่ายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน) แต่ให้ BKFT สร้างและดูแลเครือข่ายให้)
เมื่อได้ทราบถึงที่มาที่ไปทั้งหมดแล้วว่า เจ้าของอุปกรณ์คือ BKFT ส่วน กสท หรือ CAT เช่าเสาสัญญาณและชุดอุปกรณ์ แล้วก็ขายให้ เรียลมูฟ เป็นผู้จัดจำหน่ายแบบขายส่ง (Reseller) การตีความของ กทค มองว่า สัญญามีความไม่ชอบตามมาตรา 46 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือ (พ.ร.บ.กสทช.) ที่ห้ามโอนสิทธิ์การใช้คลื่นความ ถี่ไปให้บุคคลอื่น ทางแก้ตอนนี้ก็คือ อาศัยอำนาจตามมาตรา 47 และมาตรา 27 (4) และ (6) ประกอบมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีคำสั่งให้ กสท และทรู ไปคุยกันเพื่อแก้ไขสัญญาให้ถูกต้องตามมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือ สัญญาเดิมได้ระบุว่า กสทต้องใช้คลื่นความถี่และอุปกรณ์ของ BFKT “เท่านั้น” อันนี้ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อให้สามารถนำไปใช้กับบริษัทอื่นได้ และกสท.ต้องสามารถครอบครอง ควบคุม ดูแล บริหารจัดการ พูดง่ายๆคือเป็นเจ้าของเครือข่ายเอง (อย่างที่บอกข้างต้นคือเป็นการเช่าอุปกรณ์จาก BKFT และขายต่อให้เรียลมูฟ) และกสท.ต้องมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินใจเรื่องคลื่นความถี่ และการขยายเครือข่าย (สัญญาเดิมต้องขออนุญาต BFKT ก่อน เพราะเช่าเขา) และสุดท้ายก็คือกสท. ต้องสามารถให้บริการร่วมกับเครือข่ายอื่นได้ (สัญญาเดิมบอกว่าเฉพาะ BFKT เท่านั้น)
สัญญาคลุมเครือจริงหรือ แล้วจะกระทบอะไรต่อผู้บริโภคไหม
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ จะเห็นภาพได้ว่า เรื่องราวทั้งหมด เป็นเรื่องของสัญญาที่เขียนไว้และเซ็นสัญญากันอย่างคลุมเคลือ ตอนนี้ก็ต้องแก้ไขให้ชัดเจนตามมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และจัดการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ (30 วัน) ก็จะใช้งานได้ตามปกติ โดยสัญญา “ไม่เป็นโมฆะ” และลูกค้า “ไม่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับความเดือดร้อน” สามารถใช้บริการได้ตามปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น